การงอกของเมล็ด

 

     เมล็ดจะงอกได้ต้องได้รับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เหมาะสม มากระตุ้นการเปลี่ยนแปลงภายในเมล็ด ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายกระบวนการ เริ่มตั้งแต่เมล็ดมีการดูดน้ำเพื่อทำให้เซลล์ได้รับน้ำเข้าไปจึงเริ่มมีการทำงาน ของเอนไซม์สำหรับย่อยอาหารที่เก็บสะสมไว้ในการพัฒนาของต้นกล้า อย่างไรก็ตามการดูดน้ำของเมล็ดเป็นกระบวนการฟิสิกส์ เมล็ดที่ไม่มีชีวิต ก็สามารถดูดน้ำได้ เมล็ดที่ไม่มีชีวิตจึงอาจจะบวมขึ้นได้เช่นกัน อาหารที่ ถูกเก็บสะสมไว้ในเมล็ดพวกแป้ง โปรตีน ไขมัน และน้ำมันจะถูกย่อยให้เป็น สารที่มีโครงสร้างง่ายๆ แล้วเคลื่อนย้ายไปที่จุดเจริญ

   

     มีการแบ่งเซลล์ที่ปลายยอดและปลายราก ต่อจากนั้นพัฒนา เป็นโครงสร้างของต้นกล้าประกอบด้วยแกนต้น (embryonic axis) ที่มีใบเลี้ยง (cotyledon) ติดอยู่ ส่วนที่อยู่เหนือใบเลี้ยงขึ้นไปเรียกว่า epicotyl ประกอบด้วยส่วนยอดอยู่ที่ปลายของแกนต้น เรียกว่า plumule และส่วนของแกนต้นที่อยู่ใต้ใบเลี้ยงเรียกว่า hypocotyl มีส่วนของรากที่เรียกว่า radicle ที่จะพัฒนาไปเป็นรากต่อไป

     

 

ลักษณะการงอกของต้นกล้าจึงใช้ส่วนที่มีการเจริญขึ้น มาจากเมล็ดในการเรียกการงอกได้ 2 แบบ คือ        
       
 

Epigeous germination
     epigeous (epigeal) germination เป็นต้นกล้าที่มี ส่วนของลำต้นที่อยู่ใต้ใบเลี้ยง (hypocotyl) ยืดตัว และชูใบเลี้ยงขึ้นเหนือดิน ได้แก่ ถั่วเขียว ดาวเรือง คะน้า มะขาม เมื่อใบเลี้ยงคลี่ตัวออกและเปลี่ยนเป็น สีเขียวสามารถช่วยในการสังเคราะห์แสงได้

   
       
 

Hypogeous germination
     ส่วนต้นกล้าที่มีส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือใบเลี้ยง(epicotyl) ยืดตัวขึ้นมาในการงอกเรียกว่า hypogeous (hypogeal) germination ทำให้ใบเลี้ยงไม่ชูขึ้นเหนือดิน ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วลันเตา ขนุน หญ้า